กรณีสถานพยาบาลเอกชน ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ๑) ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ทำหนังสือแจ้งมายังกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยแจ้งชนิดของวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติด เลขที่ผลิต (Lot. No.) วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ปริมาณ และสาเหตุที่ต้องการจะทำลาย รวมถึงวัน เวลา และสถานที่ที่ต้องการทำลาย เพื่อขออนุมัติการทำลายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
๒) เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว เจ้าหน้าที่กองควบคุมวัตถุเสพติด จะแจ้งให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลทราบ และในการทำลายจะต้องมีเจ้าหน้าที่ฯ ร่วมเป็นพยานในการทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ฯ จะตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติดที่จะทำลาย เลขที่ผลิต (Lot. No.) วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ปริมาณ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกการทำลายวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติด และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กรณีสถานพยาบาลเอกชน ที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล และส่วนภูมิภาค ๑) ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ทำหนังสือแจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แจ้งชนิดของวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติด เลขที่ผลิต (Lot. No.) วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ปริมาณ และสาเหตุที่ต้องการจะทำลาย รวมถึงวัน เวลา สถานที่ที่ต้องการทำลาย เพื่อขออนุมัติการทำลายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
๒) เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะแจ้งให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลทราบและในการทำลายจะต้องมีเจ้าหน้าที่ฯ ร่วมเป็นพยานในการทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ฯ จะตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติดที่จะทำลาย เลขที่ผลิต (Lot. No.) วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ปริมาณ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกการทำลายวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติด และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทราบต่อไป
กรณีสถานพยาบาลของรัฐ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หมวด ๓ การควบคุมและการจำหน่ายพัสดุ ข้อ ๑๕๗ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย ๓ คน เพื่อทำลายยาแล้วให้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แล้วรายงานมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (หนังสือเวียน ที่ สธ ๑๐๐๓.๓/ว๑๒๖๔ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เรื่อง การทำลายวัตถุออกฤทธิ์และยาเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์)